วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติและความเป็นมาของการลีลาศ

ความเป็นมาของการลีลาศ
การเต้นรำ (Dance) เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย ไปตามจังหวะดนตรี เพื่อแสดงออกทางด้านอารมณ์ และความหรรษารื่นเริง การเต้นรำจึงมีประวัติอันยาวนาน คู่กับมนุษยชาติ เริ่มจากมนุษย์ในยุคโบราณ มีการเต้นรำ หรือฟ้อนรำเพื่อบูชาเทพเจ้า เพื่อขอพระ และขอความคุ้มครอง เป็นกิจกรรมบันเทิงควบคู่กันไป กับการกระทำพิธีกรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ถือเป็นรูปแบบของการเต้นรำดั้งเดิม (Primitive Dance) เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้น มนุษย์มีการรวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนที่มีการพัฒนา ทางด้านเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ การเต้นรำดั้งเดิมก็ได้รับการพัฒนา เป็นการเต้นรำพื้นบ้าน (Folk Dance) และเริ่มเป็นกิจกรรมสังคม ที่แยกจากเรื่องของพิธีกรรมทางศาสนา และลัทธิความเชื่อ มาเป็นกิจกรรมนันทนาการ เพื่อความบันเทิง และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ในหมู่คณะ (Social Relationship) ดังนั้น การเต้นรำพื้นบ้าน ได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้นในสังคมเมือง มีการพัฒนาการเต้นรำพื้นบ้าน เป็นการเต้นรำที่เรียกว่า ลีลาศ (Ballroom Dance) โดยมีกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ในปลายศตวรรษที่ 18 และแพร่หลายไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน

ลีลาศในประเทศไทย
การลีลาศในประเทศไทย ในเมืองไทยมีคนเต้นรำเป็น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 และคนที่เป็นนักเต้นรำคนแรก ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็มีการเต้นรำกันทุกปีที่มีงานเฉลิมพระชนมพรรษา โดยจะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธาน ซึ่งจะจัดกันที่พระที่นั่งจักรีฯ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐาน ซึ่งราชฑูตต่างๆ ก็จะมาเข้าเฝ้าด้วย  แต่ส่วนใหญ่ที่เต้น ก็มักจะเป็นจังหวะวอลซ์อย่างเดียว   (นิตยสารลีลาศ ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน , 2521)
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการตั้งสมาคมสมัครเล่นเต้นรำขึ้น มีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ เป็นนายกสมาคม และนายหยิบ ณ นคร เป็นเลขาธิการสมาคม ต่อมาเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงจัดงานลีลาศขึ้นที่สมาคมคณะราษฎร์ ซึ่งพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร์จะจัดการเลี้ยงฉลอง ที่วังสราญรมย์ จากนั้นก็มีการลีลาศกันบ่อยเข้า และมีการแข่งขันกันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วังสราญรมย์ โดยมีพลเรือตรีเฉียบ แสงชูโต กับคุณประนอม สุขขุม เป็นแชมป์คู่แรกของประเทศไทย
การลีลาศได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสงครามสงบลงในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 วงการลีลาศของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ มีโรงเรียนสอนลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะสาขาบอลรูมสมัยใหม่ (Modern Ballroom Branch ) ซึ่งอาจารย์ยอด บุรี ได้ไปศึกษามาจากประเทศอังกฤษและเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ช่วยทำให้การลีลาศซึ่งศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนาเป็นผู้นำอยู่ก่อนแล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ในปี พ.ศ.2491 มีบุคคลชั้นนำในการลีลาศซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีลาศสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ อุไร โทณวณิก กวี กรโกวิท จำลอง มาณยมณฑล ปัตตานะ เหมะสุจิ และ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุญาตให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2491 มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสภาการลีลาศนานาชาติด้วยประเทศหนึ่ง
คำว่า "ลีลาศ" หรือ "เต้นรำ" มีความเหมือนๆ กัน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ฉบับปีพุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ลีลาศ" เป็นนาม แปลว่า "ท่าทางอันงาม การเยื้องกราย" เป็นกริยา แปลว่า "เยื้องกราย เดินนวยนาด" ส่วนคำว่า "เต้นรำ" แปลว่า "เคลื่อนที่ไป โดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรี ซึ่งเรียกว่า ลีลาศ โดยปกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง"
ประเทศไทยเรียกการลีลาศว่า เต้นรำ มานานแล้ว คำว่า ลีลาศ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Social Dance" ในยุโรป เรียกการลีลาศ หรือเต้นรำว่า "Ballroom Dancing" ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า "ลีลาศ" คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เมื่อปี พ.ศ.2476

การลีลาศในฐานะกิจกรรมนันทนาการ
การเต้นรำแบบลีลาศ ในระยะแรกเป็นกิจกรรมนันทนาการ ที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยง และงานสังสรรค์ รวมทั้งงานเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญ โดยถือเป็นกิจกรรมหรรษาบันเทิง และเสริมมิตรภาพ ระหว่างสมาชิกที่มาร่วมงาน ยังมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย ตามจังหวะเพลง และดนตรีโดยมีผู้เต้นเป็นคู่ชาย หญิง มีการพัฒนาระเบียบแบบแผน ของการเต้นรำแบบลีลาศมาโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นศิลปะที่มีรูปแบบลีลาศของท่าเต้น ดนตรี จังหวัด เทคนิค และการแต่งกายเป็นมาตรฐาน ที่สามารถถ่ายทอด โดยการฝึกฝนให้แก่ผู้สนใจ สามารถเต้นรำประเภทนี้ ได้ทุกเพศทุกวัย โดยมีทักษะพื้นฐานในการลีลาศ เป็นมาตรฐานเดียวกัน
การสร้างมาตรฐานการลีลาศ ให้เป็นมาตรฐานสากล เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1924 เมื่อมีการจัดตั้งสาขาลีลาศขึ้น ในสมาคมครูสอนลีลาศ แห่งประเทศอังกฤษ (Ballroom Branch of the Imperial of Teachers of Dancing) สมาคมนี้ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ จรรโลงมาตรฐานการลีลาศ ทั้งด้านแบบท่าเต้น จังหวะ ดนตรี และเทคนิคการลีลาศ ทำให้การลีลาศนอกจากจะเป็นกิจกรรมนันทนาการ เพื่อการบันเทิง และเข้าสังคมแล้ว ยังเป็นกิจกรรมการแข่งขัน โดยมีมาตรฐานกติกา และมารยาททำนองเดียวกับ การแข่งขันกีฬาประเภทอื่น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และปัจจุบันได้มีการวิเคราะห์การลีลาศ ในเชิงการกีฬา พบว่า การลีลาศเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด กิจกรรมหนึ่ง จึงได้มีการประยุกต์การลีลาศ ไปใช้เป็นกีฬา เพื่อออกกำลังกาย สำหรับคนทุกเพศทุกวัย การลีลาศจึงกลายเป็นกิจกรรม "เพื่อสุขภาพ" พร้อมๆ กัน "เพื่อมิตรภาพ" ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการลีลาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น