วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการเต้นลีลาศเพื่อลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพ

1.        ชื่อโครงการ: โครงการเต้นลีลาศเพื่อลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพ
2.        หลักการและเหตุผล:
การเต้นลีลาศอาจถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่จำกัดเพศและอายุของผู้เต้นไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือคนสูงวัยก็สามารถเต้นลีลาศได้เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้ออกแรงมาก ดังนั้นแรงกระแทกที่อาจได้รับจากการออกกำลังกายจึงลดลงตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นการฝึกสมาธิได้อีกวิธีหนึ่ง เพราะในขณะที่เราเต้นลีลาศอยู่นั้น เราจะต้องบังคับให้สติอยู่กับตัวเราเสมอ เพราะมิฉะนั้นเราอาจเสียจังหวะ หรือเต้นผิดได้ เปรียบเสมือนการทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นลีลาศยังเป็นการได้พบปะพูดคุยกันของคนในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสามารถส่งผลไปถึงการสมานฉันท์ของผู้คนในสังคม และความสมัครสมานสามัคคีของคนในประเทศต่อไป
3.        วัตถุประสงค์:
·        ให้ผู้คนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
·        ใข้พื้นที่ในชุมชนให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
·        สร้างความสามัคคี ความแน่นแฟ้น ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในชุมชน
·        ส่งเสริมสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของคนในชุมชน
·        เกิดโครงการชุมชนสร้างสรรค์
4.        กลุ่มเป้าหมาย:
·        ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยในชุมชน (ประมาณ 15,000 คน)
5.        วิธีดำเนินการ:
·        จัดหาชาวบ้านใจดีที่พร้อมจะสนับสนุนโครงการ
·        จัดหาพื้นที่ว่างในชุมชน
·        ตกแต่งพื้นที่ให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ดีพร้อมต่อการใช้งาน
·        จัดหาวิทยากรที่มีความรู้เพียงพอโดยอาจเริ่มหาจากคนในชุมชนก่อนเพื่อการประหยัดงบประมาณ
·        จัดหาเครื่องเสียงไว้สำหรับเปิดเพลงในขณะที่เต้นรำ
6.        ระยะเวลาดำเนินการ:
ประมาณ 3 เดือน แล้วเริ่มทดลองโครงการ และเริ่มสังเกตผลตอบรับ
7.        สถานที่ดำเนินการ:
บริเวณลานโล่งของชุมชนที่ยังไม่ได้มีการใช้สอยให้เกิดประโยชน์อย่างที่ควรเป็น
8.        งบประมาณ:
·        ค่าจัดการเรื่องพื้นที่ และตกแต่งพื้นที่ราคา             15,000 บาท
·        ค่าวิทยากร                                                               500 บาท/ ครั้ง/ ชม.
·        ค่าเครื่องเสียง                                                          4,500 บาท
9.        ผลคาดหวังที่จะได้รับ:
หวังว่าจะมีผู้คนในชุมชนหันมาสนใจในโครงการที่ดีแบบนี้ และให้ทุกคนเริ่มมาใส่ใจในการดูแลร่างกายของตนเองให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ และรักษาตัวเองเอาไว้เพื่อที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมของตน และยิ่งไปกว่านั้นคือการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติของเรา
10.     ผู้รับผิดชอบ:
นาย ธีรัช อิทธาถิรุธ ม. 6/1 เลขที่ 3

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติและความเป็นมาของการลีลาศ

ความเป็นมาของการลีลาศ
การเต้นรำ (Dance) เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย ไปตามจังหวะดนตรี เพื่อแสดงออกทางด้านอารมณ์ และความหรรษารื่นเริง การเต้นรำจึงมีประวัติอันยาวนาน คู่กับมนุษยชาติ เริ่มจากมนุษย์ในยุคโบราณ มีการเต้นรำ หรือฟ้อนรำเพื่อบูชาเทพเจ้า เพื่อขอพระ และขอความคุ้มครอง เป็นกิจกรรมบันเทิงควบคู่กันไป กับการกระทำพิธีกรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ถือเป็นรูปแบบของการเต้นรำดั้งเดิม (Primitive Dance) เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้น มนุษย์มีการรวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนที่มีการพัฒนา ทางด้านเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ การเต้นรำดั้งเดิมก็ได้รับการพัฒนา เป็นการเต้นรำพื้นบ้าน (Folk Dance) และเริ่มเป็นกิจกรรมสังคม ที่แยกจากเรื่องของพิธีกรรมทางศาสนา และลัทธิความเชื่อ มาเป็นกิจกรรมนันทนาการ เพื่อความบันเทิง และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ในหมู่คณะ (Social Relationship) ดังนั้น การเต้นรำพื้นบ้าน ได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้นในสังคมเมือง มีการพัฒนาการเต้นรำพื้นบ้าน เป็นการเต้นรำที่เรียกว่า ลีลาศ (Ballroom Dance) โดยมีกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ในปลายศตวรรษที่ 18 และแพร่หลายไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน

ลีลาศในประเทศไทย
การลีลาศในประเทศไทย ในเมืองไทยมีคนเต้นรำเป็น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 และคนที่เป็นนักเต้นรำคนแรก ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็มีการเต้นรำกันทุกปีที่มีงานเฉลิมพระชนมพรรษา โดยจะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธาน ซึ่งจะจัดกันที่พระที่นั่งจักรีฯ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐาน ซึ่งราชฑูตต่างๆ ก็จะมาเข้าเฝ้าด้วย  แต่ส่วนใหญ่ที่เต้น ก็มักจะเป็นจังหวะวอลซ์อย่างเดียว   (นิตยสารลีลาศ ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน , 2521)
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการตั้งสมาคมสมัครเล่นเต้นรำขึ้น มีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ เป็นนายกสมาคม และนายหยิบ ณ นคร เป็นเลขาธิการสมาคม ต่อมาเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงจัดงานลีลาศขึ้นที่สมาคมคณะราษฎร์ ซึ่งพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร์จะจัดการเลี้ยงฉลอง ที่วังสราญรมย์ จากนั้นก็มีการลีลาศกันบ่อยเข้า และมีการแข่งขันกันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วังสราญรมย์ โดยมีพลเรือตรีเฉียบ แสงชูโต กับคุณประนอม สุขขุม เป็นแชมป์คู่แรกของประเทศไทย
การลีลาศได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสงครามสงบลงในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 วงการลีลาศของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ มีโรงเรียนสอนลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะสาขาบอลรูมสมัยใหม่ (Modern Ballroom Branch ) ซึ่งอาจารย์ยอด บุรี ได้ไปศึกษามาจากประเทศอังกฤษและเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ช่วยทำให้การลีลาศซึ่งศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนาเป็นผู้นำอยู่ก่อนแล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ในปี พ.ศ.2491 มีบุคคลชั้นนำในการลีลาศซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีลาศสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ อุไร โทณวณิก กวี กรโกวิท จำลอง มาณยมณฑล ปัตตานะ เหมะสุจิ และ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุญาตให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2491 มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสภาการลีลาศนานาชาติด้วยประเทศหนึ่ง
คำว่า "ลีลาศ" หรือ "เต้นรำ" มีความเหมือนๆ กัน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ฉบับปีพุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ลีลาศ" เป็นนาม แปลว่า "ท่าทางอันงาม การเยื้องกราย" เป็นกริยา แปลว่า "เยื้องกราย เดินนวยนาด" ส่วนคำว่า "เต้นรำ" แปลว่า "เคลื่อนที่ไป โดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรี ซึ่งเรียกว่า ลีลาศ โดยปกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง"
ประเทศไทยเรียกการลีลาศว่า เต้นรำ มานานแล้ว คำว่า ลีลาศ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Social Dance" ในยุโรป เรียกการลีลาศ หรือเต้นรำว่า "Ballroom Dancing" ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า "ลีลาศ" คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เมื่อปี พ.ศ.2476

การลีลาศในฐานะกิจกรรมนันทนาการ
การเต้นรำแบบลีลาศ ในระยะแรกเป็นกิจกรรมนันทนาการ ที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยง และงานสังสรรค์ รวมทั้งงานเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญ โดยถือเป็นกิจกรรมหรรษาบันเทิง และเสริมมิตรภาพ ระหว่างสมาชิกที่มาร่วมงาน ยังมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย ตามจังหวะเพลง และดนตรีโดยมีผู้เต้นเป็นคู่ชาย หญิง มีการพัฒนาระเบียบแบบแผน ของการเต้นรำแบบลีลาศมาโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นศิลปะที่มีรูปแบบลีลาศของท่าเต้น ดนตรี จังหวัด เทคนิค และการแต่งกายเป็นมาตรฐาน ที่สามารถถ่ายทอด โดยการฝึกฝนให้แก่ผู้สนใจ สามารถเต้นรำประเภทนี้ ได้ทุกเพศทุกวัย โดยมีทักษะพื้นฐานในการลีลาศ เป็นมาตรฐานเดียวกัน
การสร้างมาตรฐานการลีลาศ ให้เป็นมาตรฐานสากล เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1924 เมื่อมีการจัดตั้งสาขาลีลาศขึ้น ในสมาคมครูสอนลีลาศ แห่งประเทศอังกฤษ (Ballroom Branch of the Imperial of Teachers of Dancing) สมาคมนี้ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ จรรโลงมาตรฐานการลีลาศ ทั้งด้านแบบท่าเต้น จังหวะ ดนตรี และเทคนิคการลีลาศ ทำให้การลีลาศนอกจากจะเป็นกิจกรรมนันทนาการ เพื่อการบันเทิง และเข้าสังคมแล้ว ยังเป็นกิจกรรมการแข่งขัน โดยมีมาตรฐานกติกา และมารยาททำนองเดียวกับ การแข่งขันกีฬาประเภทอื่น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และปัจจุบันได้มีการวิเคราะห์การลีลาศ ในเชิงการกีฬา พบว่า การลีลาศเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด กิจกรรมหนึ่ง จึงได้มีการประยุกต์การลีลาศ ไปใช้เป็นกีฬา เพื่อออกกำลังกาย สำหรับคนทุกเพศทุกวัย การลีลาศจึงกลายเป็นกิจกรรม "เพื่อสุขภาพ" พร้อมๆ กัน "เพื่อมิตรภาพ" ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการลีลาศ

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท สืบพันธุ์ และต่อมไร้ท่อ


อวัยวะในร่างกายเรานั้นทำงานสัมพันธ์กันเป็นระบบและมีความสำคัญต่อร่างกาย ดังนั้นหากระบบใดทำงานผิดปกติไปก็จะส่งผลต่อระบบอื่นๆทั้งระบบด้วย เราจึงควรบำรุง รักษาอวัยวะต่างๆในร่างกายให้ดี ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี
ร่างกายเราประกอบไปด้วยเซลล์ที่แตกต่างกันหลายล้านเซลล์ และเมื่อกลุ่มเซลล์มารวมกันและทำหน้าที่เหมือนกันก็จะเรียกว่า เนื้อเยื่อ และเมื่อเนื้อเยื่อมารวมกันโดยทำหน้าที่เหมือนกันก็จะเรียกว่า อวัยวะ และ หลายๆอวัยวะทำงานต่างกันมารวมกันก็จะกลายเป็น ระบบ ในร่างกาย ซึ่งระบบในร่างกายนั้นทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ต้องทำงานอย่างสอดคล้องกันจึงจะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
1.1     ความสำคัญ และหลักการการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย
มนุษย์จะอยู่ได้ก็ด้วยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั้งในและนอกร่างกาย ระบบต่างๆต้องพึ่งพา
และทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากอวัยวะใดเสียจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วร่างกาย เราจึงต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายให้ปกติ
หลักการการเสริมสร้าง และดำรงประสิทธิภาพร่างกายมีดังนี้
1.        รักษาอนามัยส่วนบุคคล และบริโภคอาหารให้ถูกต้องเหมาะสม
2.        ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วทำจิตใจให้แจ่มใส
3.        หลีกเลี่ยงอบายมุข และสิ่งเสพติดให้โทษ
4.        ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ
1.2     ระบบประสาท (Nervous System)
ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่คุมการทำงานและรับความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ
1.2.1            องค์ประกอบของระบบประสาท
1.2.1.1 ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System): ประกอบด้วย สมอง ไขสันหลัง
สมอง คือ อวัยวะที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดในระบบประสาท เป็นศูนย์รวมใยประสาทคุมระบบต่างๆ และเป็นศูนย์เกี่ยวกับความคิด ความจำ ความรู้สึก นึกคิดต่างๆ
ไขสันหลัง ส่วนที่ต่อจากสมอง ลงไปถึงบั้นเอว และมีเส้นประสาทแตกแขนงออกมามาก ทำหน้าที่รับกระแสประสาทจากอวัยวะต่างๆ ส่งไปยังสมอง และคุม ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ (Reflex Action) ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยที่ไม่ต้องใช้สมองเป็นตัวสั่งการ (โดยไม่ต้องคิด)
1.2.1.2 ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System): ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง เส้นประสาทไขสันหลังและประสาทระบบอัตโนมัติ ระบบส่วนนี้จะทำหน้าที่นำกระแสประสาทจากอวัยวะต่างๆเข้าสมอง และรับการตอบสนองจากสมองส่งไปยังอวัยวะปฏิบัติงาน
1.2.2        การทำงานของระบบประสาท
ระบบประสาทจะทำงานประสานกับหลายๆระบบในร่างกาย เช่น ขณะที่นั่งอ่านหนังสือ สมองจะคุมทั้งเรื่อง กล้ามเนื้อต่างๆ (เช่น การกระพริบตา นั่งตัวตรง ยกหนังสือขึ้นอ่าน เป็นต้น) คุมเรื่องความคิด ความจำ รวมทั้งการควบคุมสมดุลระบบต่างๆในร่างกายด้วย
1.2.3        การรักษาระบบประสาท
1.        ระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือน และเลี่ยงยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อสมอง
2.        พักผ่อนให้พอ และทานอาหารที่มีประโยชน์
1.3 ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System) เป็นการเพิ่นจำนวนสิ่งมีชีวิตทดแทนที่ตายไป เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์
1.3.1        อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย
1.        อัณฑะ (Testis) มีหน้าที่ผลิตตัวอสุจิ และผลิตฮอร์โมนเพศชาย
2.        ถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) หย่อนลงมาเพื่อนำอัณฑะหนีจากอุณหภูมิของร่างกายเพื่อการสร้างอสุจิ
3.        หลอดเก็บอสุจิ (Epididymis)
4.        หลอดนำอสุจิ (Vas Deferens)
5.        ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicle)
6.        ต่อมลูกหมาก (Prostrate Gland) สร้างสารเป็นเบสไปในท่อปัสสาวะเพื่อปรับความเป็นกรดให้อสุจิ
7.        ต่อมคาวเปอร์ (Cowper’s Glands) สร้างสารหล่อลื่นไปในท่อปัสสาวะให้อสุจิเคลื่อนที่เร็ว
1.3.2            อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง
1.        รังไข่ (Ovary) ผลิตใข่ และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง
2.        ปีกมดลูก (Fallopian Tube) หรือท่อนำไข่ (Oviduct)
3.        มดลูก (Uterus) เป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อนที่ได้รับการผสมแล้ว
4.        ช่องคลอด (Vagina) เป็นทางเข้าของอสุจิ และเป็นทางออกของทารกเมื่อถึงเวลาคลอด
1.3.3        การบำรุงรักษาระบบสืบพันธุ์
1.        ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
2.        งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สำส่อนทางเพศ
3.        ทำความสะอาดร่างกายให้ทั่ว สวมเสื้อผ้าที่สะอาด และไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น
1.4 ระบบต่อมไร่ท่อ (Endocrine System)
1.4.1        ต่อมไร้ท่อในร่างกาย
1.        ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland)
2.        ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland)
3.        ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland)
4.        ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Gland)
5.        ต่อมในตับอ่อน (Islets Of  Langerhans)
6.        รังไข่ และ อัณฑะ
7.        ต่อมไทมัส (Thymus Gland)
1.4.2            การบำรุงรักษาต่อมไร้ท่อ
1.        ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
2.        ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
3.        ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์